คำแนะนำ :
หากราคาไม่หลุด 1,719-1,713 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รอเสี่ยงเปิดสถานะซื้อในบริเวณดังกล่าว(ตัดขาดทุนหากหลุด 1,713ดอลลาร์ต่อออนซ์) เน้นการลงทุนระยะสั้นและควรพิจารณาถึงความเสี่ยง เนื่องจากราคาทองคำแกว่งตัวผันผวน
แนวรับ : 1,713 1,700 1,687 แนวต้าน : 1,740 1,759 1776
สรุป
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.86 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยราคาทองคำได้รับแรงกดดันในช่วงต้นของการซื้อขายจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการทะยานขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีสู่ระดับ 1.642% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ขานรับการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีเกินคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐจากม.มิชิแกน พุ่งขึ้นแตะระดับ 83.0 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2009 นั่นส่งผลกดดันให้ราคาทองคำร่วงลงจากระดับสูงสุดในระหว่างวัน ลงมาแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 1,699.12 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี เกิดแรงซื้อ Buy the dip สลับเข้ามาในตลาด อีกทั้งดัชนีดอลลาร์ลดช่วงบวกลงจึงเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นจากระดับต่ำสุดในระหว่างวันขึ้นมาปิดตลาดในแดนบวกได้ แม้ว่ากองทุน SPDR ยังคงลดการถือครองทองคำลงอีก -3.20 ตันในวันศุกร์สู่ระดับ 1,052.07 ตัน ก็ตาม นั่นทำให้ในปี 2021 กองทุน SPDR ถือครองทองลดลงแล้วถึง –118.67 ตันสะท้อนกระแสเงินทุนที่ยังคงไหลออกจากกองทุน ETF ทองคำซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงลบต่อราคาทองคำเช่นเดิม สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Index)ของสหรัฐ
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ยูโรสแตทเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนดีกว่าคาดในเดือนม.ค. สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน เมื่อเทียบรายปี การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และหดตัวลง 2.4% เมื่อเทียบรายปี
- (-) สหรัฐฉีดวัคซีนโควิดให้ชาวมะกันทั่วประเทศทะลุ 100 ล้านโดสแล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่า 133 ล้านโดสทั่วสหรัฐแล้วเมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) ข้อมูลของ CDC ระบุว่า ในปัจจุบันมีชาวอเมริกันราว 35 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ขณะที่เกือบ 66 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วอย่างน้อย 1 โดส
- (-) ดอลล์แข็งค่า ขานรับบอนด์ยีลด์พุ่ง-ข้อมูลเศรษฐกิจสดใส ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามในกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.27% แตะที่ 91.6762 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.05 เยน จากระดับ 108.47 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9295 ฟรังก์ จากระดับ 0.9245 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับ 1.2467 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2537 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1950 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1980 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3923 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3987 ดอลลาร์
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 293.05 จุด ทำนิวไฮต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นวันที่ 5 ติดต่อกันเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนได้พากันเข้าซื้อหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้น แต่ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงสวนทางตลาดหลังจากดีดตัวขึ้นมากกว่า 6% ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา และดัชนี S&P500 ปิดตลาดทรงตัวหลังแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในวันพฤหัสบดี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่เพิ่มขึ้นทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,778.64 จุด เพิ่มขึ้น 293.05 จุด หรือ +0.90%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,943.34 จุด เพิ่มขึ้น 4.00 จุด หรือ +0.10% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,319.86 จุด ลดลง 78.81 จุด หรือ -0.59%
- (-) บอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่งไม่หยุด ล่าสุดทะลุ 1.630% ทำนิวไฮรอบกว่า 1 ปี -อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในวันนี้ ล่าสุดทะลุ 1.630% ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมกับแถลงว่าเขาจะทำให้ชาวอเมริกันทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในวันที่ 1 พ.ค. ณ เวลา 22.57 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.637% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.397%
- (-) ผลสำรวจม.มิชิแกนชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐพุ่งนิวไฮรอบ 1 ปี ผลสำรวจของม.มิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 83.0 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 76.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 78.5
- (-) สหรัฐเผยดัชนี PPI (Y/Y) พุ่งสูงสุดรอบกว่า 2 ปีในเดือนก.พ. กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2552 เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 2.8% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2561 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนม.ค. นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PPI จะปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี
- (+/-) คลังสหรัฐเริ่มแจกเงินเยียวยาล็อตแรกให้ชาวมะกัน เชื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มโอนเงินล็อตแรกคนละ 1,400 ดอลลาร์หรือราว 4.3 หมื่นบาทเข้าบัญชีเงินฝากของชาวอเมริกันโดยตรงในวันศุกร์ (12 มี.ค.) ภายใต้มาตรการเยียวยาผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเพิ่งลงนามอนุมัติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยประชาชนบางส่วนจะได้รับเงินดังกล่าวอย่างเร็วที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และบรรดานักเศรษฐศาสตร์มองว่า รายได้จากเงินเยียวยาดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.