เสี่ยงเปิดสถานะซื้อหากราคาสามารถยืนเหนือ 1,859-1,855 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อหวังทำกำไรจากการดีดตัวขึ้นช่วงสั้น โดยทยอยขายทำกำไรหากราคายังไม่ยืนเหนือโซน 1,890-1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ : 1,855 1,847 1,833 แนวต้าน : 1,890 1,900 1,912
สรุป
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.78 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับการทะยานขึ้นของตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ในสหรัฐ ล่าสุดสหรัฐรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 144,000 รายในวันพุธ นับเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และผลักดันให้ค่าเฉลี่ย 7 วันของยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 35% จากสัปดาห์ก่อนหน้าสู่ระดับ 127,603 ราย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายรัฐประกาศใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จนก่อให้เกิดความวิตกว่ามาตรการดังกล่วจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จึงกดดันให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง นอกจากนี้สกุลเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ออกมาแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อีกด้วย ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยได้รับแรงหนุนในวงกว้างทั้งค่าเงินเยน, ทองคำ รวมไปถึงพันธบัตร ซึ่งแรงซื้อพันธบัตรส่งผลกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้ร่วงลงจนเป็นปัจจัยหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐที่ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน และ “ลดลงเกินคาด” สู่ระดับ 709,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว เป็นปัจจัยสกัดการการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -1.17 ตัน สำหรับวันนี้ ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI), คาดการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ จาก UoM
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 317.46 จุด วิตกโควิดฉุดเศรษฐกิจทรุด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (12 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมากในสหรัฐ ซึ่งทำให้หลายรัฐประกาศใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มธนาคารซึ่งมีความอ่อนไหวต่อทิศทางเศรษฐกิจร่วงลงอย่างหนัก ขณะที่หุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มธุรกิจเรือสำราญดิ่งลงเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,080.17 จุด ลดลง 317.46 จุด หรือ -1.08% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,537.01 จุด ลดลง 35.65 จุด หรือ -1.00% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,709.59 จุด ลดลง 76.84 จุด หรือ -0.65%
- (+) “พาวเวล” ชี้ยังไม่สามารถประเมินผลบวกของวัคซีนต่อทิศทางเศรษฐกิจ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ถือเป็นข่าวดีในระยะกลาง แต่ก็ยังคงมีความท้าทายและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการผลิต แจกจ่าย และประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มที่แตกต่างกัน “ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินได้อย่างเชื่อมั่นต่อผลบวกของวัคซีนต่อทิศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระยะใกล้” นายพาวเวลกล่าวในการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) นายพาวเวลยังกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวค่อนข้างช้า แต่ยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่ง โดยความเสี่ยงหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งการชะลอตัวเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หลังจากที่เศรษฐกิจดีดตัวขึ้นอย่างมากในเดือนพ.ค.และมิ.ย.
- (+) แพทย์ใหญ่ทำเนียบขาวไม่มั่นใจวัคซีนสามารถกำจัดโรคโควิด-19 นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ และเป็นนายแพทย์ใหญ่ของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้กำลังจะมีวัคซีนซึ่งจะช่วยยุติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เขาก็ไม่แน่ใจว่าวัคซีนดังกล่าวจะสามารถกำจัดโรคโควิด-19 ได้ นายแพทย์ฟอซีกล่าวว่า ประชาชนไม่ควรชะล่าใจ และปล่อยการ์ดตก หลังมีข่าวว่ามีการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย
- (+) ดอลล์อ่อน วิตกผลกระทบโควิดระบาดหนักในสหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 พ.ย.) โดยภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อที่ซบเซาของสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อดอลลาร์ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.09% แตะที่ 92.9628 ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.08 เยน จากระดับ 105.45 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9147 ฟรังก์ จากระดับ 0.9172 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3139 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3070 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1806 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1773 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3115 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3210 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7236 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7274 ดอลลาร์สหรัฐ
- (-) รมว.คลังเยอรมนีเตือนมาตรการล็อกดาวน์กระทบเศรษฐกิจใน Q4 นายโอลาฟ โชลซ์ รมว.คลังเยอรมนี กล่าวว่า การที่รัฐบาลเยอรมนีใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเดือนพ.ย.เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4 แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี นายโชลซ์ระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะมีวงเงินสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1 หมื่นล้านยูโร (1.179 หมื่นล้านดอลลาร์)
- (-) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำสุดรอบ 7 เดือน กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยลดลงสู่ระดับ 709,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 757,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
- (+/-) สหรัฐเผยดัชนี CPI ทรงตัวในเดือนต.ค. กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนต.ค. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. ดัชนี CPI ทรงตัวในเดือนต.ค. เนื่องจากการร่วงลงของราคาน้ำมันได้หักล้างการดีดตัวขึ้นของราคาอาหาร เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ดีดตัว 1.2% ในเดือนต.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายปี นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายปี
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.