เน้นการซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้น โดยการเปิดสถานะซื้อพิจารณาบริเวณแนวรับ 1,869-1,863 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากราคาขยับขึ้นควรแบ่งขายทำกำไรบางส่วนหากราคาทองคำไม่ผ่านโซน 1,889-1,893 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าผ่านได้สามารถถือต่อ
แนวรับ : 1,863 1,847 1,831 แนวต้าน : 1,893 1,911 1,934
สรุป
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.33 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,889.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อ Buy the dip ทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในยุโรปและสหรัฐ รวมไปถึงความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำถูกแรงขายทำกำไรสลับออกมา ประกอบกับสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัยที่มีสภาพคล่องสูงยังคงได้รับแรงหนุนจากความไม่แน่นอนดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้สกุลเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาด อาทิ การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.0% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากม.มิชิแกนที่ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 81.8 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 81.2 ปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดแรงขายในตลาดทองคำออกมาบางส่วน ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลด -0.58 ตันในวันศุกร์ ขณะที่เช้านี้ ราคาทองคำอ่อนตัวลงแตะ 1,873 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในตลาดเอเชียโดยได้รับแรงกดดันจากการอ่อนค่าของปอนด์ หลังจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศว่า อังกฤษจะเข้าสู่ภาวะ Lockdown ทั่วประเทศอีกครั้งเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ก่อนจะมีแรงซื้อหนุนให้ราคาดีดตัวขึ้นอีกครั้ง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐจาก ISM และ ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้าง
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) แกนนำวุฒิฯสหรัฐเผยคองเกรสจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงต้นปีหน้า นายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า สภาคองเกรสจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงต้นปีหน้า ถ้อยแถลงของนายแมคคอนเนลล์ถือเป็นการปิดโอกาสที่สหรัฐจะมีการออกมาตรการเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. “ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาล ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19” นายแมคคอนเนลล์กล่าว
- (-) อังกฤษประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้งหลังโควิด-19 ระบาดซ้ำรอบสอง นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศว่า อังกฤษจะเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้งเพื่อรับมือการแพร่ระบาดอีกครั้งของโควิด-19 รายงานระบุว่า มาตรการใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 5 พ.ย. ไปจนถึงวันที่ 2 ธ.ค. และธุรกิจค้าปลีกรวมไปถึงธุรกิจบริการที่ไม่จำเป็นจะถูกสั่งปิดทั้งหมด อย่างไรก็ตาม โรงเรียนและสถานศึกษาอื่น ๆ ยังสามารถเปิดได้ นายจอห์นสันระบุว่า ประชาชนควรออกจากบ้านด้วยเหตุผลบางอย่างเท่านั้น เช่น ทำงาน ออกกำลังกาย หรือการดูแลผู้อื่นตามหน้าที่ และสามารถอยู่กับบุคคลอื่นนอกเหนือสมาชิกภายในบ้านในที่กลางแจ้งได้เพียงครั้งละคนเท่านั้น
- (-) ผลสำรวจม.มิชิแกนชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐสูงเกินคาดในเดือนต.ค. ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 81.8 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 81.2 จากระดับ 80.4 ในเดือนก.ย.
- (-) สหรัฐเผยดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดีดตัวขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% เช่นกันในเดือนส.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานดีดตัวขึ้น 1.5% ในเดือนก.ย.
- (-) สหรัฐเผยการใช้จ่ายผู้บริโภคสูงเกินคาดในเดือนก.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนส.ค.
- (-) ดอลล์แข็งค่าเล็กน้อย ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจดีกว่าคาด ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดเพิ่มขึ้นทั่วโลก และดอลลาร์ยังได้แรงหนุน หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาดด้วย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.10% แตะที่ระดับ 94.0412 ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.67 เยน จากระดับ 104.66 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9170 ฟรังก์ จากระดับ 0.9158 ฟรังก์ แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3317 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3324 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1644 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1671 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2956 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2927 ดอลลาร์
- (+/-) สหรัฐเผยดัชนีต้นทุนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.5% ในไตรมาส 3 กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด เพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบรายไตรมาส สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% เช่นกันในไตรมาส 2
- (+/-) ดาวโจนส์ปิดลบ 157.51 จุด แรงขายหุ้นเทคโนฯกดดันตลาด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (30 ต.ค.) และปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่ต่างๆ หลังจากการเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ และความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,501.60 จุด ลดลง 157.51 จุด หรือ -0.59%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,269.96 จุด ลดลง 40.15 จุด หรือ -1.21% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,911.59 จุด ลดลง 274.00 จุด หรือ -2.45%
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.