นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไม่รุนแรงเท่าระลอกแรก และระลอกสอง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนยังสามารถดำเนินได้
อย่างไรก็ดี การระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและความเชื่อมั่น โดยการระบาดระลอก 3 กระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศอยู่ที่ 1.4-1.7% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงกว่าการระบาดระลอก 2 ที่อยู่ 1.2% ของจีดีพี ดังนั้นการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยไทยออกจากวิกฤตด้านสาธารณสุขและการเปิดประเทศ โดยหากฉีดวัคซีนได้เร็วจะช่วยหนุนการเติบโตจีดีพีในปี 2564-2565 ขยายตัว 3.0-5.7%
ทั้งนี้ ธปท.ได้ทำสมมติฐานไว้ 3 กรณี กรณีแรก สามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดสในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จะช่วยเศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัว 2% มีนักท่องเที่ยว 1.2 ล้านคน และปีหน้าจีดีพีจะอยู่ที่ 4.7% มีนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน
กรณี 2 คือ จัดหาและกระจายวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดสในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จะช่วยให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 1.5% มีนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน และจีดีพี ปีหน้าอยู่ที่ 2.8% นักท่องเที่ยวอยู่ที่ 12 ล้านคน โดยกรณีมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลังภูมิคุ้มกันหมูล่าช้าไม่ทันไตรมาส 1 ปี 2565 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท หรือ -3.0% ของจีดีพี
กรณีที่ 3 จัดหาหรือกระจายวัคซีนน้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 8.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น -5.7% ของจีดีพี โดยมองว่าการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้จะอยู่ที่ 1% จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 8 แสนคน และปีหน้าขยายตัว 1.1% นักท่องเที่ยว 8 ล้านคน
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สมมติฐานในกรณีดังกล่าว ยังไม่รวมมาตรการต่างๆ จากภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิดในปีนี้ และตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่การปรับประมาณการเศรษฐกิจจาก ธปท. ซึ่งการปรับประมาณเศรษฐกิจไทยในรอบของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนมิ.ย.นี้
อย่างไรก็ดี จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ได้ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าให้ขยายตัวสูงขึ้น และพยุงให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงไม่มากในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยที่แม้จะเริ่มขยายตัวดีขึ้น แต่ก็ยังส่งผลต่อเนื่องมาสู่ตลาดแรงงานในวงที่จำกัด เนื่องจากยังไม่เห็นการจ้างงานรายใหม่เพิ่มขึ้นมากในภาคการผลิต มีเพียงชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เป็นผลจากโครงสร้างของตลาดแรงงานที่การจ้างงานในภาคการส่งออกมีสัดส่วนไม่ได้สูงมาก และในระยะข้างหน้า คาดว่าการส่งออกจะส่งผลดีต่อการจ้างงานในภาคการผลิตได้บ้าง
CR : อินโฟเควสท์
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.