หลังจากที่เราได้รับทราบถึงปัจจัยที่จะเข้ามาหนุนราคาทองคำในปี 2022 ไปแล้ว เราจะมาดูปัจจัยลบต่อราคาทองคำกันบ้าง นั่นก็คือการเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดมีบทบาทสำคัญต่อราคาทองคำอย่างมาก
เพราะจากสถิติในอดีต เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงินทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2009-2011 และช่วงปี 2020 ขณะที่ในช่วงที่เฟดยุติการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และกลับมาคุมเข้มนโยบายการเงินก็ส่งผลกดดันราคาทองคำเช่นกัน ดังที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2013-2018 ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งดอลลาร์สหรัฐกับทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม
และปี 2022 ดูเหมือนจะเป็นหัวเลี้ยงหัวต่อทางด้านนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนจะมองข้ามไม่ได้ หากอ้างอิงจากสถิติ0tพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ดังนี้
ราคาทองคำจะตอบสนองในเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟดมากที่สุดในช่วงก่อนที่เฟดจะดำเนินการลด QE จริง และราคาทองคำยังปรับตัวลงต่อในช่วงที่เฟดเริ่มลด QE ครั้งแรกไปจนถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก แต่การตอบสนองเชิงลบไม่มากเท่าระยะแรก และราคามีการปรับตัวลงทำระดับต่ำสุดในเดือนที่เฟดเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก สุดท้ายราคาทองคำเริ่มยกฐานขึ้นนับตั้งแต่เฟดเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนธ.ค.ปี 2015
ดังนั้น การปรับนโยบายการเงินของเฟดกลับสู่สภาวะปกติ ทั้งในแง่ของการลด QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนทองคำต้องระมัดระวังแรงขายที่อาจสลับออกมาเป็นระยะในปี 2022
อย่างไรก็ดี Past performance do not determine future performance ที่สำคัญ คือ ราคาทองคำไม่ได้เคลื่อนไหวตามนโยบายการเงินของเฟดเพียงปัจจัยเดียว ขณะที่ราคาทองคำจะปรับตัวลงมากเท่าใด และจะสามารถต้านต่อปัจจัยกดดันนี้ได้หรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย
อีกหนึ่งปัจจัยลบต่อราคาทองคำ ก็คือกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกจากกองทุน ETF ทองคำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนควรติดตามอยู่เสมอ เพราะนอกจากจะเป็นส่วนสำคัญในตลาดทองคำที่อาจส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อการลงทุนทองคำแล้วนั้น ยังจะทำให้นักลงทุนได้เห็นมุมมองของนักลงทุนรายใหญ่ที่มีต่อตลาดทองคำเนื่องจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในต่างประเทศมักจะใช้กองทุน ETFs ทองคำเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารพอร์ตการลงทุน ที่สำคัญราคาทองคำเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการถือครองทองคำของ ETF
ทั้งนี้ในปี 2020 ที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้อุปสงค์การลงทุนทองคำในภาคการลงทุน ETF ทองคำที่ดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมหาศาล จนผลักดันการถือครองทองคำของกองทุน ETF ทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 3,899.9 ตันในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นำโดยกองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปัจจัยหลักที่หนุนส่งราคาทองคำในปีที่แล้ว
แต่กลับเกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากกองทุน SPDR นับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน(วันที่ 20 ธ.ค. 2021) กองทุน SPDR ถือครองทองลดลงแล้ว -192.17 ตันสู่ระดับ 978.57 ตัน ซึ่งสอดคล้องกับราคาทองคำในปีนี้ที่ยังคงให้ผลตอบแทนเป็นลบ
แม้แรงขายของ SPDR ชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรกของปีอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มเกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นจากกองทุน SPDR ที่กลับมาถือครองทองคำเพิ่มขึ้นราว 10.71 ตัน
ดังนั้น หาก SPDR ชะลอแรงขายจะสะท้อนว่านักลงทุนยังคงถือครองทองคำ ยิ่งหากกลับมาเพิ่มการถือครองทองคำต่อไปจะสะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนทองคำซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ช่วยหนุนราคาทองคำ หรือ สกัดไม่ให้ราคาทองคำร่วงลงแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 7 เดือนก่อนหน้านี้ แต่หาก SPDR กลับมาลดการถือครองทองคำต่อเนื่องจะเป็นสัญญาณที่ทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังในการถือครองทองคำ
ขอขอบคุณ : YLG
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.