หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐ เดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 0.6% ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเดือน ก.ย. ลดลง 1.0% ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 0.3% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ทั่วไปพุ่งขึ้น 4.4% สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2534
ขณะที่ดัชนี PCE พื้นฐาน เดือน ก.ย. ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้น 0.3% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐาน เดือน ก.ย.เพิ่มขึ้น 3.6%
Kitco news ระบุจากแนวโน้มที่ดูท่าจะบานปลายของภาวะเงินเฟ้อได้ทำให้นักลงทุนเป็นจำนวนมากกำลังคาดการณ์ว่า Fed อาจจะกระชับมาตรการทางการเงินมากขึ้น โดยมองว่ามีโอกาสที่ FED จะปรับอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า จากเดิมที่กรรมการ FED ประเมินว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง
โดยนักลงทุนมองว่ามีโอกาส 65% ที่ Fed จะเริ่มการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย., อีก 51% มองว่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่สองในเดือนก.ย.และอีก 51% มองว่าจะขึ้นดอกเบี้ย ครั้งที่ 3 ในเดือนก.พ.ปี 2023 ในขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group มองขึ้นไปถึงโอกาส 50% สำหรับการขยับตัวในเดือน ธ.ค.ปี 2022
ด้าน Goldman Sachs ให้ความเห็นว่า ช่องว่างระหว่าง Core CPI และ PCE Price Index ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นอีกในปีถัด ๆ ไปเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่พักอาศัย พร้อมคาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะอยู่ในช่วงกลาง ๆ ของ 5% ไปจนถึงต้นปีหน้า ก่อนจะลดระดับลงมาเหลือประมาณ 4% ในช่วงกลางปีและ 3.1% ในช่วงปลายปี แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายของ Fed ที่วางเอาไว้ 1 %
นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ให้ความเห็นว่า จากมาตรชี้วัดอัตราเงินเฟ้อแสดงถึงแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงดูร้อนแรงในช่วงกลางปีหน้า และนั่นก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นล่วงหน้าในปี 2022
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของ Fed ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ของภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันจะคงอยู่เพียงชั่วคราว และมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงไปเมื่อปัญหาในระบบซัพพลายเชนได้รับการแก้ไข
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.