กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี หลังประเมินเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากที่คาดการณ์เล็กน้อย แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิม
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้(23 ก.ย.)ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี หลังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อย แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิมตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยกว่าที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ดังนั้นจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลมากขึ้น
ด้านอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้าง ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าในระยะข้างหน้ามาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุด และทันการณ์มาขึ้น โดยจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง และจะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทาน เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยกว่าประมาณการเดิม จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ขยายตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564 ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะเดียวกันส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลเริ่มปรับลดลงบ้างในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี
ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวน้อยลง โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐและการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้เงินบาทอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อย และธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ
มองไปข้างหน้า
คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น