Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

วิเคราะห์ราคาทองคำ 17 พ.ค.64(YLG)

- Advertisement -

406

- Advertisement -

คำแนะนำ :

แนะนำการลงทุนอาจต้องเป็นไปในลักษณะรอจังหวะการอ่อนตัวลงของราคาค่อยเข้าซื้อ หรือหากราคาทองคำไม่สามารถยืน 1,857-1,859  ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ให้แบ่งทองคำออกขายเพื่อทำกำไรบางส่วน แต่หากผ่านได้ให้ชะลอการขายออกไป

แนวรับ : 1,838 1,822 1,805  แนวต้าน : 1,859 1,876 1,889

สรุป

ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์  หลังจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ส่วนใหญ่ออกมาแย่เกินคาด  อาทิ  ยอดค้าปลีกที่ทรงตัวในเดือนเม.ย. แย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 1.0% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐจากม.มิชิแกนลดลงสู่ระดับ 82.8 ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 90.4 หลังจากแตะระดับ 88.3 ในเดือนเม.ย. และการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ในเดือนเม.ย. น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น  0.9%  สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงไม่แน่นอน  ซึ่งช่วยบั่นทอนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย  จนเป็นปัจจัยกดดันดัชนีดอลลาร์ให้อ่อนค่า พร้อมกับกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐให้ปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 เดือนสู่ระดับ 1.635%  จนเป็นปัจจัยหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยเพิ่ม  ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดบริเวณ  1,844.28  ดอลลาร์ต่อออนซ์  ขณะที่เช้าวันนี้  ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อในตลาดเอเชียจนทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือนที่ 1,852.09 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองเพิ่ม +4.08 ตัน  สู่ระดับ 1,028.36 ตัน สะท้อนกระแสเงินทุนที่เริ่มไหลกลับเข้าสู่ ETF ทองคำ  สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม(Empire State Index) และ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยจาก NAHB รวมถึงถ้อยแถลงของนายริชาร์ด คลาริดา รองประธานเฟด และนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดแอตแลนตา

- Advertisement -

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) ดอลล์อ่อนค่า นักลงทุนผิดหวังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐต่ำกว่าคาด  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 พ.ค.) โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่อ่อนแอกว่าคาด อาทิ ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย.  ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.48% แตะที่ 90.3191 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 109.35 เยน จากระดับ 109.45 เยน, อ่อนค่าเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9021 ฟรังก์ จากระดับ 0.9062 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2112 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2166 ดอลลาร์แคนาดา  ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2143 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2075 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.4100 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4042 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7785 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7725 ดอลลาร์สหรัฐ
  • (+) ฝรั่งเศสเผยฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชน 20 ล้านรายแล้ว ตั้งเป้าฉีดอีก 30 ล้านราย  นายฌอง กัสแตกซ์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ฝรั่งเศสได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 โดสแรกให้กับประชาชนแล้ว 20 ล้านราย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย ก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสจะอนุญาตให้ธุรกิจและร้านอาหาร ตลอดจนงานอีเวนท์ด้านวัฒนธรรมกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง  สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายกฯฝรั่งเศสได้ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์เรื่องการฉีดวัคซีนครบ 20 ล้านรายตามเป้าหมายแรก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของประชากร นายกฯฝรั่งเศส กล่าวว่า ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงที่มีความสำคัญมากสำหรับทั้งประเทศ เนื่องจากการฉีดวัคซีนช่วยสนับสนุนการยุติวิกฤตที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการแพร่ระบาดที่ลดลงในทุกๆพื้นที่ของฝรั่งเศส  นายกัสแตกซ์กล่าวว่า เป้าหมายถัดไปคือการฉีดวัคซีนโดสแรกให้กับประชาชน 30 ล้านคน
  • (+) ผลสำรวจม.มิชิแกนชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือนพ.ค.  ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 82.8 ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 90.4 หลังจากแตะระดับ 88.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐในเดือนมี.ค.2563  ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ โดยคาดว่าจะแตะระดับ 4.6% ในปีนี้ และ 3.1% สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า
  • (+) เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนเม.ย.  ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนเม.ย. หลังจากดีดตัวขึ้น 2.4% ในเดือนมี.ค.
  • (+) สหรัฐเผยยอดค้าปลีกต่ำกว่าคาดในเดือนเม.ย.  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกทรงตัวในเดือนเม.ย. หรือหมายความว่า ปรับตัวขึ้น 0% ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% หลังจากพุ่งขึ้น 10.7% ในเดือนมี.ค.  ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ร่วงลง 1.5% ในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 7.6% ในเดือนมี.ค.
  • (-) ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 360.68 จุด ขานรับเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นอีกกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (14 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงพากันเข้าซื้อหุ้นท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งได้ช่วยบดบังความวิตกในตลาดเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ และความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด  ดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 34,382.13 จุด เพิ่มขึ้น 360.68 จุด หรือ +1.06%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,173.85 จุด เพิ่มขึ้น 61.35 จุด หรือ +1.49% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,429.98 จุด เพิ่มขึ้น 304.99 จุด หรือ +2.32%
  • (-) สหรัฐเผยดัชนีราคานำเข้าเพิ่มเกินคาดในเดือนเม.ย.  กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคานำเข้าดีดตัวขึ้นมากกว่าคาดในเดือนเม.ย. โดยเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.4% ในเดือนมี.ค.  นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีราคานำเข้าจะเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย.
  • (+/-) อินเดียขยายมาตรการล็อกดาวน์ในกรุงนิวเดลีอีก 1 สัปดาห์ถึง 24 พ.ค.  อินเดียได้ขยายระยะเวลาในการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโควด-19 ในกรุงนิวเดลีออกไปอีก 1 สัปดาห์จนกระทั่งถึงวันที่ 24 พ.ค. เวลา 5.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น  สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเดลีนั้น มีแนวโน้มลดลงและประชาชนก็อยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากการติดเชื้อ  ทั้งนี้ กรุงนิวเดลีใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More