นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ
สัปดาห์นี้จับตาสถานการณ์การเพิ่มกองกำลังทหารของรัสเซีย
ราคาทองคำ Spot คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,790-1,815 ดอลลาร์
- ราคาทองคำ Spot สัปดาห์ที่ผ่านมายืนเหนือบริเวณ 1,800 ดอลลาร์ ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนมาจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ซึ่งนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ ภายหลังจากดัชนี PCE พื้นฐานพุ่งขึ้น 4.68% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มมากที่สุดในรอบ 30 ปี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเริ่มจับตาสถานการณ์การเพิ่มกองกำลังทหารของรัสเซียในไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนที่รัสเซียเข้ายึดครอง และอยู่ใกล้กับยูเครน ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust ขายทองคำสุทธิ 4.94 ตันจากสัปดาห์ที่ผ่านมา
- สัปดาห์นี้สหรัฐเปิดเผยยอดทำสัญญาขายบ้านรอปิดการขายเดือนพ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนี PMI เขตชิคาโกเดือนธ.ค. นอกจากนี้ติดตามสถานการณ์การเพิ่มกองกำลังทหารของรัสเซียใกล้ยูเครน
- แนวโน้มราคาทองคำ Spot คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,790-1,815 ดอลลาร์ โดยมีแนวต้าน 1,815 ดอลลาร์ และ 1,825 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวรับที่ 1,790 ดอลลาร์ และ 1,780 ดอลลาร์
ราคาทองตลาดโลก
Close | chg. | Support | Resistance |
1,801.90 | -5.90 | 1,790/1,780 | 1,815/1,825 |
ราคาทองแท่ง 96.5%
Close | chg. | Support | Resistance |
28,700 | – | 28,500/28,350 | 28,850/28,950 |
โกลด์ฟิวเจอร์ส
Close | chg | Support | Resistance |
28,800 | – | 28,620/28,540 | 29,070/29,180 |
แนะนำเข้าซื้อเมื่อราคาทอง Spot ปรับลงมาที่ 1,780 ดอลลาร์ (GF 28,540 บาท) โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,770 ดอลลาร์ (GF 28,380 บาท)
โกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์
Close | chg | Support | Resistance |
1,814.50 | +0.20 | 1,791/1,781 | 1,816/1,826 |
แนะนำเข้าซื้อเมื่อราคา GOH22 ปรับลงมาที่ 1,781 ดอลลาร์ โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,771 ดอลลาร์
ค่าเงิน
ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า อย่างไรก็ตามธุรกรรมยังคงมีความเบาบาง สำหรับทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องมายังบริเวณ 33.26 บาท/ดอลลาร์ สำหรับ USD Futures เดือนมี.ค.65 คาดจะมีแนวรับที่ 33.26 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์
News
แอสตร้าฯ เผยผลศึกษาชี้ยาโควิด Evusheld ลบล้างเชื้อโอมิครอนได้
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลทดสอบการลบล้างฤทธิ์ไวรัสโดยใช้ไวรัสที่มีชีวิต จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา พบว่า ยา Evusheld มีระดับ Inhibitory Concentration 50 (IC50) (ระดับฤทธิ์ของแอนติบอดีในการลบล้างเชื้อไวรัสได้ 50%) เมื่อใช้ปริมาณยา 273 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และ 147 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับผู้ที่เคยติดเชื้อและหายป่วยได้เองจากเชื้อโควิด-19 ข้อมูลดังกล่าวมาจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งใช้ไวรัสมีชีวิตที่แยกมาจากผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอไมครอน ถือเป็นการศึกษาด้านการลบล้างฤทธิ์ไวรัสของแอนติบอดีที่มีมาตรฐานสูงสุด4 ทั้งนี้จากการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยทั้งสองพบว่า ยา Evusheld เป็นแอนติบอดีหนึ่งในสองชนิดซึ่งผ่านการอนุมัติให้ใช้งานแล้ว ที่สามารถลบล้างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอไมครอนและสายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่นๆได้ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า “เราได้รับข้อมูลที่สอดคล้องกันจากการศึกษาอิสระทั้งสามการศึกษา ซึ่งทำให้เรามั่นใจว่า ยา Evusheld ซึ่งเป็นการผสมแอนติบอดีประสิทธิภาพสูงสองชนิดเข้าด้วยกัน สามารถลบล้างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอไมครอนได้ในระดับที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยา Evusheld คือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody – LAAB) แบบผสมชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 โดยเรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ ยา Evusheld มีให้ใช้แล้วในขณะนี้ ซึ่งสามารถช่วยปกป้องประชากรที่เปราะบาง เช่น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่อาจมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ไม่เพียงพอ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคโควิด-19”
“ไบเดน” ลงนามกฎหมายแบนสินค้าจากซินเจียง อ้างจีนบังคับใช้แรงงาน
ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคซินเจียงของจีน เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ที่อาศัยอยู่ในมณฑลดังกล่าว ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีนที่ออกมาประณามกฎหมายฉบับนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “กฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ (Uyghur Forced Labor Prevention Act)” เป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ที่สหรัฐมีต่อจีน โดยมีเจตนาให้จีนแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐเรียกว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาสหรัฐในเดือนธ.ค.นี้ หลังจากที่ฝ่ายนิติบัญญัติบรรลุข้อตกลงระหว่างร่างกฎหมายฉบับของสภาผู้แทนราษฎรและฉบับของวุฒิสภา ใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ “ข้อสันนิษฐานที่อาจหักล้างได้” (Rebuttable Presumption) ซึ่งถือว่าสินค้าทั้งหมดจากซินเจียงซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลจีนจัดตั้งค่ายกักกันชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ นั้น ทำขึ้นด้วยการบังคับใช้แรงงาน โดยกฎหมายฉบับนี้ห้ามการนำเข้าสินค้าจากซินเจียงเว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้มีการบังคับใช้แรงงาน สหรัฐกำหนดให้สินค้าจากซินเจียงบางชนิด เช่น ฝ้าย, มะเขือเทศ และโพลีซิลิคอนที่ใช้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์นั้น จัดอยู่ใน “ลำดับความสำคัญสูง” สำหรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกัน จีนปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำทารุณต่อชนกลุ่มน้อยในซินเจียง ซึ่งเป็นผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่ และจัดหาวัสดุทำแผงโซลาร์เซลล์เป็นส่วนใหญ่ของโลก ทางด้านสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า กฎหมายดังกล่าว “เพิกเฉยต่อความเป็นจริงและใส่ร้ายป้ายสีสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซินเจียงโดยมีเจตนาที่มุ่งร้าย”
FDA ไฟเขียวโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คเป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) อนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ของบริษัทเมอร์ค เป็นยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้วในวันนี้ ซึ่งนับเป็นยาตัวที่สองที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดในสหรัฐ หลังจากที่ FDA เพิ่งอนุมัติยาแพกซ์โลวิด (paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ไปเมื่อวันก่อน รายงานระบุว่า ในการทดลองทางคลินิกพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตลงประมาณ 30% เมื่อทดลองให้ยาแก่ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนและมีความเสี่ยงสูงว่าจะป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ FDA อนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ให้เป็นยารับประทานสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ในผู้ใหญ่ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาโควิดแบบอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม FDA ระบุในแถลงการณ์ว่า ทางหน่วยงานไม่อนุญาตให้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยาอาจส่งผลต่อการเติบโตของกระดูกและกระดูกอ่อน การอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์คมีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันพุธ FDA เพิ่งอนุมัติการใช้ยาแพกซ์โลวิดของบริษัทไฟเซอร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยไฟเซอร์ระบุว่า ยาแพกซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้เกือบ 90% รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์มีขึ้นในขณะที่สหรัฐกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ โดยคิดเป็นสัดส่วน 73% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาลดลงเหลือเพียง 27% ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ยารับประทานและยาที่ผู้ป่วยสามารถใช้เองได้ที่บ้านนั้น ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 และคาดว่ายาดังกล่าวอาจเป็นเครื่องมือใหม่ที่ใช้ในการต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.