เน้นการซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้น เสี่ยงซื้อในบริเวณ 1,860-1,858 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,847 ดอลลาร์ต่อออนซ์) แต่ในระหว่างวันหากราคาทองคำไม่ทะลุแนวต้าน 1,885-1,897 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจจะเห็นการอ่อนตัวลงอีกครั้ง
แนวรับ : 1,858 1,847 1,831 แนวต้าน : 1,885 1,897 1,911
สรุป
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 6.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ระหว่างวันราคาทองคำจะรีบาวด์กลับ แต่ก็ปรับตัวขึ้นได้ไม่ไกลนักโดยมีระดับสูงสุดในระหว่างวันเพียง 1,885.03 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลงอีกครั้งโดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีเกินคาด อาทิ ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับ GDP ประจำไตรมาส 3/2563 ที่ขยายตัวถึง 33.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 1947 และ “ดีกว่า” ที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 32% ส่วนตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยลดลงสู่ระดับ 751,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 778,000 ราย นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากการอ่อนค่าของสกุลเงินยูโร หลังธนาคารกลางยุโรป(ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย และคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ PEPP ไว้ตามเดิม แต่ส่งสัญญาณเตรียมผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในการประชุมเดือนธ.ค. ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรการ Lockdown รอบใหม่ในยุโรปเพื่อป้องกันการระบาดของCOVID-19 ยังคงบั่นทอนการฟื้นตัวของสกุลเงินยูโรเช่นกัน ปัจจัยที่กล่าวมา กดดันราคาทองคำให้ร่วงลงต่อจนแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,858.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างการซื้อขาย ก่อนจะมีแรงซื้อ Buy the dip หนุนให้ราคาลดช่วงติดลบ และฟื้นตัวขึ้นมาปิดตลาดที่ 1,869.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนี Core PCE, การใช้จ่ายและรายได้ส่วนบุคคล, ดัชนี PMI เขตชิคาโก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้าย จาก UoM
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) สหรัฐเผยดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายลดลง สวนทางคาดการณ์ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ลดลง 2.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้น
- (-) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยลดลงสู่ระดับ 751,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 778,000 ราย หลังจากอยู่ที่ระดับ 791,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
- (-)ECB มีมติคงดอกเบี้ยวันนี้ แต่ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายในเดือนธ.ค. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและวงเงินในการซื้อพันธบัตรในการประชุมวันนี้ อย่างไรก็ดี ECB ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายในการประชุมเดือนธ.ค. ขณะที่จับตาเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “คณะกรรมการ ECB จะทำการทบทวนการใช้เครื่องมือนโยบายอย่างเหมาะสมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสร้างความมั่นใจว่าภาวะทางการเงินจะยังคงเอื้อต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะมีต่อคาดการณ์เงินเฟ้อ” แถลงการณ์ของ ECB ระบุ ทั้งนี้ ECB จัดการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ โดยที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ECB ระบุว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบัน หรือต่ำกว่าระดับดังกล่าว จนกว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ ECB ซึ่งระบุให้ “อยู่ใกล้ แต่ไม่เกิน 2%” นอกจากนี้ ECB มีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือนมิ.ย.2564 หรือจนกระทั่ง ECB พิจารณาว่าวิกฤตการณ์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
- (-) สหรัฐเผย GDP Q3/63 พุ่ง 33.1% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 33.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 32%
- (-)ยูโรอ่อน วิตกล็อกดาวน์ยุโรป, ECB ส่งสัญญาณผ่อนคลายการเงิน สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 ต.ค.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเดือนหน้า นอกจากนี้ สกุลเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในยุโรป เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1671 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1752 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2927 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2991 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7026 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7059 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.66 เยน จากระดับ 104.33 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9158 ฟรังก์ จากระดับ 0.9100 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3324 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3296 ดอลลาร์แคนาดา ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.58% แตะที่ระดับ 93.9493 เมื่อคืนนี้
- (+/-) ดาวโจนส์ปิดบวก 139.16 จุด ขานรับข้อมูลศก.แข็งแกร่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ (29 ต.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ที่ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่าผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีจะออกมาดีเกินคาด ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,659.11 จุด เพิ่มขึ้น 139.16 จุด หรือ +0.52% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,310.11 จุด เพิ่มขึ้น 39.08 จุด หรือ +1.19% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,185.59 จุด เพิ่มขึ้น 180.72 จุด หรือ +1.64%
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.