ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 16.74 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยระหว่างวันจุดสูงสุดของราคาอยู่ที่ 1698.10ดอลลาร์ ต่ำสุด 1657.60 ดอลลาร์ ก่อนจะมาปิดที่ 1679.15 ดอลลาร์ โดยปัจจัยกดดันราคาทองคำวานนี้มี ดังนี้
1. ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์ที่ 100.48 ในระหว่างวัน จากความต้องการดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน หลังการระบาดของ ไวรัส COVID-19 กระทบอุปสงค์ อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด และการขาดแคลนคลังกักเก็บน้ำมัน ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.ดิ่งลง -43.4% ปิดที่ 11.57 ดอลลาร์/บาร์เรลซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี
2. ความต้องการเงินสดและสภาพคล่องเพื่อชดเชยการขาดทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ หลังจากราคาน้ำมันร่วงลงแรงฉุดตลาดหุ้นให้ร่วงลงตาม จนส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลง 631.56 จุด
นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการเงินขนาดใหญ่ และการไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองคำมีแนวโน้มสนับสนุนทองอย่างต่อเนื่อง จึงมีแรงซื้อเข้ามาช่วงพยุงราคาเอาไว้เมื่อราคาย่อตัวลง โดย กองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม 3.8 ตัน
มาดูการเคลื่อนไหวของราคาทองคำเมื่อวานนี้ ราคาสร้างระดับต่ำสุดในรายวัน และรายสัปดาห์ แต่เมื่อราคาอ่อนตัวลงมีแรงซื้อดันราคาฟื้นตัวขึ้น โดยแกว่งตัวในทิศทางอ่อนตัวลง หรือ Sideway Down ทั้งนี้ หากราคาทองคำไม่สามารถกลับขึ้นยืนเหนือ 1,698-1,716 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ทำให้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงสู่บริเวณ 1,657 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดวานนี้และหากยืนไม่อยู่ประเมินแนวรับถัดไปที่ 1,642 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ส่วนกลยุทธ์การลงทุน หากราคายังไม่ผ่านโซน 1,698-1,716 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แนะนำให้ขาย ขณะที่การเข้าซื้อรอในดูบริเวณ 1,657-1,642 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเน้นการลงทุนระยะสั้นจากการแกว่งตัวของราคา