24-6-20
คำแนะนำ :
เปิดสถานะซื้อหากราคาไม่หลุด 1,757 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากหลุดให้ชะลอไปที่แนวรับถัดไป 1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ หากราคาไม่สามารถผ่าน 1,779-1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์อาจเลือกปิดสถานะบางส่วน
แนวรับ : 1,757 1,746 1,737 แนวต้าน : 1,779 1,790 1,803
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นต่ออีก 13.86 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังมาร์กิตเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตและดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนมิ.ย. ประกอบกับนักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินที่เสี่ยงกว่าหลังสหรัฐออกมายืนยันข้อตกลงการค้าเฟส 1 ระหว่างจีน-สหรัฐ “ยังไม่เปลี่ยนแปลง” นอกจากนี้สกุลเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากการแข็งค่าของสกุลเงินยูโร หลังดัชนี PMI รวมขั้นต้นของ IHS Markit ในเขตยูโรโซนดีดตัวขึ้นเกินคาด สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวจากช่วงขาลงทางเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนอันเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ปัจจัยที่กล่าวมากดดันดัชนีดอลลาร์ ให้อ่อนค่าลง -0.4% จนเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ ไม่เพียงเท่านั้น นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำไปพร้อมๆกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ท่ามกลางการรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรัฐเท็กซัส, ฟลอริดา, แอริโซนา และแคลิฟอร์เนีย ที่ทะยานขึ้นทะลุระดับประวัติการณ์เป็นวันที่ 4 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อทองคำควบคู่กับสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)จากธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะเฟด เป็นอีกปัจจัยที่หนุนมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำ จึงได้เห็นราคาทองคำทะยานขึ้น 3 วันทำการติดต่อกันจนกระทั่งทำระดับสูงสุดของปีนี้ครั้งใหม่ และเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีครึ่งที่ 1,773 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +3.21 ตัน สำหรับวันนี้ ติดตามการเปิดเผยมติอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คาดมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 0.50% รวมถึงติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาบ้าน (HPI) เดือนเม.ย.ของสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค :
ราคาสามารถสร้างระดับสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 7 ปีครึ่งได้ หากแรงขายทำกำไรสลับออกมาไม่มาก หรือ ราคาทองคำสามารถยืนเหนือแนวรับ 1,757-1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ มีผลให้ราคาปรับตัวลงค่อนข้างจำกัดและราคายังคงรักษาแนวโน้มขาขึ้นไว้ได้ โดยมีโอกาสเกิดแรงซื้อดันให้ราคาปรับตัวขึ้นต่อ โดยประเมินแนวต้านโซน 1,779-1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
แนะนำว่าจุดที่น่าสนใจในการเข้าซื้อยังเป็นบริเวณแนวรับ 1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าราคาย่อตัวลงมาไม่ถึง อาจเสี่ยงซื้อเก็งกำไรตรงแนวรับแรก 1,757 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่หากราคาดีดตัวขึ้นแนะนำทยอยแบ่งปิดสถานะทำกำไรโซน 1,779-1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์
- (+) “มาร์กิต”เผยดัชนี PMI ภาคการผลิต-บริการสหรัฐดีดตัวทำนิวไฮ 4 เดือนในมิ.ย. ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 46.8 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 37.0 ในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 49.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 39.8 ในเดือนพ.ค. สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 46.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 37.5 ในเดือนพ.ค.
- (+) ยูโร,ปอนด์แข็งค่า นลท.ซื้อสินทรัพย์เสี่ยงหลังคลายกังวลการค้าจีน-สหรัฐ ยูโรและเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐและจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.39% สู่ระดับ 96.6619 เมื่อคืนนี้ ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1312 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1260 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2522 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2471 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.6936 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6917 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.47 เยน จากระดับ 106.92 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9444 ฟรังก์ จากระดับ 0.9474 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3540 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3524 ดอลลาร์แคนาดา
- (+) ยอดผู้ติดโควิด-19 ทะยานขึ้นทั่วสหรัฐ, สร้างความยุ่งเหยิงต่อการเปิดเศรษฐกิจ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่และสิ่งบ่งชี้อื่นๆเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคระบาดทะยานขึ้นในพื้นที่ระบาดหนักทั่วสหรัฐ ซึ่งกดดันให้เจ้าหน้าที่เมืองและรัฐต่างๆเตรียมพิจารณาชะลอหรือเปลี่ยนแผนการกลับมาเปิดเมือง ยอดผู้ติดเชื้อทะยานขึ้นในรัฐเท็กซัส, ฟลอริดา, แอริโซนา และแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเมื่อวานนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุระดับประวัติการณ์เป็นวันที่ 4 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้แต่ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่ตัวเลขลดลง นายฟิล เมอร์ฟีย์ ผู้ว่าการรัฐเตือนว่า อัตราการแพร่เชื้อ “เริ่มเพิ่มสูงขึ้น” ข้อมูลที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์และบลูมเบิร์กนิวส์ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐเพิ่มขึ้น 35,695 คนจากช่วงเดียวกันของวันจันทร์ สู่ 2.33 ล้านคน การปรับขึ้น 1.6% สูงกว่าการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายวัน ที่ 1.3% ใน 7 วันที่ผ่านมา ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 0.7% สู่120,913 คน
- (-) สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.ดีดตัวขึ้น 16.6% สูงกว่าคาดการณ์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดีดตัวขึ้น 16.6% ในเดือนพ.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ภายหลังจากที่ตลาดได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ายอดขายบ้านใหม่จะเพิ่มขึ้นเพียง 2.9%
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 131.14 จุด รับข้อมูลศก.สดใส,แรงซื้อหุ้นเทคโนฯ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค.ที่ดีดตัวขึ้นแข็งแกร่งกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งนำโดยหุ้นแอปเปิล รวมทั้งความหวังที่ว่า รัฐบาลสหรัฐจะออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติม ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,156.10 จุด เพิ่มขึ้น 131.14 จุด หรือ +0.50% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,131.29 จุด เพิ่มขึ้น 13.43 จุด หรือ +0.43% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,131.37 จุด เพิ่มขึ้น 74.89 จุด หรือ +0.74%
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)