เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมข้างหน้า
ติดตามจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ระยะสั้นแนวโน้มราคาทองคำคาดปรับตัวขึ้น
- ราคาทอง Spot เมื่อคืนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นแรง เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าลง หลังจากที่ดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี จากที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด และเฟดจะทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ทั้งนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า แต่ได้ปฎิเสธแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75% ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust ถือครองทองคำเท่าเดิม
- คืนนี้สหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตลาดคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 180,000 ราย
- ระยะสั้นแนวโน้มราคาทองคำคาดปรับตัวขึ้น โดยราคาทองคำมีแนวรับ 1,880 ดอลลาร์ และแนวรับถัดไป 1,870 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,920 ดอลลาร์ และ 1,930 ดอลลาร์
ราคาทองตลาดโลก
Close | Support | Resistance |
1,881.10 | 1,880/1,870 | 1,920/1,930 |
ราคาทองแท่ง 96.5%
Close | Support | Resistance |
30,400 | 30,400/30,200 | 30,800/30,950 |
โกลด์ฟิวเจอร์ส
Close | chg | Support | Resistance |
30,570 | +10 | 30,420/30,300 | 30,800/30,920 |
เก็งกำไรฝั่งซื้อใกล้แนวรับบริเวณ 1,870 ดอลลาร์ (GF 30,300 บาท) โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,860 ดอลลาร์ (GF 30,220 บาท)
โกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์
Close | chg | Support | Resistance |
1,872.00 | +7.20 | 1,882/1,872 | 1,922/1,932 |
เก็งกำไรฝั่งซื้อใกล้แนวรับบริเวณ 1,872 ดอลลาร์ โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,862 ดอลลาร์
ค่าเงิน
ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนค่า หลังจากที่ดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี จากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามคาดและเริ่มทำ QT เดือนหน้า ทั้งนี้ระยะสั้นค่าเงินบาทแข็งค่า สำหรับ USD Futures เดือนมิ.ย.65 มีแนวรับที่ 33.80 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 34.70 บาท/ดอลลาร์
News
“พาวเวล” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% ในการประชุมครั้งหน้า แต่ปฏิเสธขึ้นแรง 0.75%
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ (4 พ.ค.) ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐอยู่ในภาวะตึงตัวมาก และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่สูงเกินไป โดยเฟดจะเร่งดำเนินการเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75% – 1.00% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี “คณะกรรมการเฟดมีความเห็นว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า อย่างไรก็ดี ขณะนี้คณะกรรมการเฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75%” นายพาวเวลกล่าว
เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด เริ่มทำ QT เดือนหน้า
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมวันนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี นอกจากนี้ เฟดยังเปิดเผยแผนทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยขณะนี้มีมูลค่ารวม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า “กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงในไตรมาสแรก แต่การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ของภาคธุรกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังคงดีดตัวขึ้น นอกจากนี้ การที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เศรษฐกิจเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะทำให้ปัญหาชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานมีความรุนแรงขึ้น นอกเหนือจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน และเหตุการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ทำให้เกิดแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มถ่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”
ทำเนียบเครมลินปัดข่าว “ปูติน” เตรียมประกาศสงครามยูเครน 9 พ.ค.
นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะประกาศสงครามต่อยูเครนอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็น “วันแห่งชัยชนะ” ของรัสเซีย “ไม่มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น นี่เป็นเรื่องที่เหลวไหล” นายเพสคอฟกล่าว นอกจากนี้ โฆษกทำเนียบเครมลินยังปฏิเสธข่าวที่ว่า รัฐบาลรัสเซียจะทำการระดมกำลังทหารสำรองในวันดังกล่าวเพื่อเข้าไปทำสงครามในยูเครน หลังจากที่เผชิญการต่อต้านอย่างหนักจากกองทัพยูเครน ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐและชาติตะวันตกระบุว่า ปธน.ปูตินจะประกาศสงครามต่อยูเครนอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็น “วันแห่งชัยชนะ” ของรัสเซีย โดยทหารของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นสามารถพิชิตกองทัพนาซีในวันดังกล่าวในปี 1945 ขณะใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2